เบื้องหลัง ฟ้าใหม่

ฟ้าใหม่ เป็นละครโทรทัศน์ที่อิงเนื้อหาจากนิยายชื่อเดียวกันของ ศุภร บุนนาค กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ไปจนถึงการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผ่านชีวิตของ ออแสน ตัวละครเอกของเรื่อง นายทหารมหาดเล็กเชื้อสายผู้ดีแขกเทศ เพื่อนร่วมสาบานรุ่นของคุณคนใหญ่ (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช), คุณคนกลาง (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) และคุณคนเล็ก (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) โดยเจ้าของบทประพันธ์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประวัติของเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ต้นสกุลบุนนาค ที่คุณศุภรเป็นสะใภ้คนหนึ่งของตระกูลนี้ นำแสดงโดย ณัฐวุฒิ สกิดใจ, ดนุพร ปุณณกันต์, อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร, พัชราภา ไชยเชื้อ, จีรนันท์ มะโนแจ่ม, ฐาปกรณ์ ดิษยนันทน์, ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล, คงกระพัน แสงสุริยะ, ชินมิษ บุนนาค 

เนื้อเรื่องย่อ 
ปลายรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (สมบัติ เมทนี) แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ แสน (ณัฐวุฒิ) อายุได้ 8 ขวบ ออกหลวงพิชิตบรเทศ (โอ๋ ฐาปกรณ์)พ่อของแสนพาแสนเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก พระองค์ได้พระราชทานแสนให้เป็นมหาดเล็กของ สมเด็จพระมหาอุปราชเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (อัษฎาวุธ) แสนสนิทสนมกับมหาดเล็กหนุ่มรุ่นพี่อยู่ 3 คนสองคนคือ คุณคนใหญ่ (วิทย์ ภูธฤทธิ์) กับ คุณเล็ก (หนุ่ม คงกะพัน) เป็นพี่น้องคลานตามกันมาจากตระกูลขุนนางเศรษฐีผู้ดีเก่าแก่ ส่วนอีกคนหนึ่งคือ คุณกลาง (ชินมิษ บุนนาค) เป็นเพื่อนร่วมสาบานกับคุณใหญ่คุณเล็ก มหาดเล็กรุ่นพี่นี้มีเพียงคุณใหญ่เท่านั้นที่เป็นมหาดเล็กของวังหน้า ส่วนคุณเล็กและคุณกลางเป็นมหาดเล็กของวังหลวง ทั้งสามคนและแสนสนิทสนมกันมากไปไหนไปด้วยกันตลอด เมื่อแสนย่างเข้าสู่วัยหนุ่มและโกนจุกแล้วนั้น เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ประชวรด้วยโรคร้าย และระหว่างนั้นมีการขัดแย้งกันในหมู่พระญาติวงศ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์จึงถูกกราบบังคมทูลเรื่องลักลอบทำชู้กับหม่อมห้ามของพระราชบิดา พระองค์จึงต้องพระราชอาญาและทิวงคตลงแสนสะเทือนใจในชะตากรรมของเจ้านายอันเป็นที่รักยิ่งนัก หลังจากเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทิวงคต คุณใหญ่ได้รับหมายเกณฑ์ให้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กของ เจ้าฟ้าอุทุมพร (บรู๊ค ดนุพร) คุณใหญ่จึงพาแสนเข้าถวายตัวด้วย ส่วนคุณเล็กยังอยู่วังหลวง ส่วนคุณกลางออกไปอยู่หัวเมืองตากตั้งแต่เป็นหนุ่ม อีกนานต่อมาจึงมีพิธีอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นเป็นพระมหาอุปราชพระองค์ใหม่ และมีการแห่ครองวัง แสนตื่นเต้นที่ได้เข้าขบวนแห่ ต่างจากคุณใหญ่ที่มีท่าทีเฉยชา เพราะไม่ต้องการลอกคราบเปลี่ยนสีตามนาย เธอถือว่ามีเจ้านายพระองค์เดียว คือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์คุณใหญ่บอกแสนว่าหลังพิธีนี้เธอจะออกไปประจำอยู่หัวเมือง การได้เข้าขบวนแห่พิธีอุปราชาภิเษกนำพาให้แสนได้พบกับเรณูนวล (อั้ม พัชราภา) เธอมาดูขบวนแห่ครองวังกับนางในอื่นๆ เธอเรียกแสนอย่างล้อเลียนว่า “ลูกแขกค้าตะเภา” แสนรู้จากเพื่อนว่าเธอเป็นลูกสาวคนเดียวของ พระยาพิษณุโลก (โด่ง อรรถชัย)กับภริยาเอก และการมาอยู่วังหลวงของเธอเสมือนเป็นตัวจำนำ เพราะบิดาเธอเป็นเจ้าเมืองพิษณุโลกหัวเมืองใหญ่ และเป็นเมืองหน้าศึกทางเหนือ มีผู้คนและนักรบฝีมือดีในปกครองมากมายพอที่จะแข็งเมืองและตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ 

เบื้องหลัง ฟ้าใหม่

ด้านเนื้อหา

ศาสตราจารย์ ดร. สุริยา รัตนกุล ทายาทของคุณสุภร บุนนาค ได้ให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของนิยายเรื่องนี้ว่า ตัวละครเอกที่ชื่อ '''ออแสน''' เกิดจากต้นตระกูลบุนนาคมีคนชื่อ เสน ส่วนตัวละคร เรณูนวล นั้น เกิดจากสตรีที่แต่งงานกับเจ้าคุณบุนนาค ชื่อว่า เจ้าคุณนวล โดยคุณสุภร บุนนาค แต่งนวนิยายไว้ 6 บท แล้วจึงได้ออกตีพิมพ์ ในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 นับเป็นนวนิยายที่เป็นที่นิยมมาก แต่ถึงกระนั้น ก็มิได้แต่งบทเพิ่มมาอีก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2534 ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ศาสตราจารย์ ดร. สุริยามีช่วงเวลาว่าง จึงได้พบกับเค้าโครงของบทประพันธ์ส่วนที่เหลือ จึงได้พิมพ์ออกเป็นครั้งที่ 2 ด้วยเนื้อหาที่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับอย่างดีมาก จนกระทั่งได้มาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ในปี พ.ศ. 2547 

ด้านประวัติศาสตร์และความสมจริง

พินิจ ทุหะจินดา ทีมงานฝ่ายข้อมูล บริษัท ดีด้า วีดีโอโปรดักชั่น กล่าวว่า ในการเขียนบทของละครโทรทัศน์เรื่องนี้ ได้มีการค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารหลายฉบับ รวมแล้วเกือบๆร้อยเล่ม ทั้งพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พงศาวดารฉบับกรมศิลปากร รวมถึงจดหมายเหตุลาลูแบร์ด้วย ซึ่งจดหมายลาลูแบร์บอกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไว้อย่างละเอียด ตั้งแต่เรื่องการเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ อาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในยุคนั้น ทรงผม รวมถึงตำราพิชัยสงคราม ขบวนเสด็จรูปแบบต่างๆ เป็นต้น ด้วยเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหาเป็นที่ยอมรับในทางประวัติศาสตร์มากที่สุด 

สยม สังวริบุตร ให้สัมภาษณ์ว่า ในฉากที่ต้องเผาทองลอกพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์นั้น ได้มีการสร้างพระพุทธรูปศรีสรรเพชญ์จำลองขึ้นมาใหม่ โดยหล่อออกมาด้วยขี้ผึ้ง แล้วปิดทองทับ ซึ่งในฉากนั้นจะพบว่า ในขณะที่พระพุทธรูปพระศรีสสเพชญ์ถูกเผา ทองได้ลอกออกเป็นน้ำตา เพื่อสื่อถึงความหมายของการสูญเสียในช่วงสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2



ความคิดเห็น